
แผนพัฒนา 3 ปี
แผนพัฒนาสามปี หมายถึง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา อันมีลักษณะเป็นการกำหนดรายละเอียดแผนงาน โครงการพัฒนาที่จัดทำขึ้นสำหรับปีงบประมาณแต่ละปี ซึ่งมีความต่อเนื่องและเป็นแผนก้าวหน้าครอบคลุมระยะเวลาสามปีโดยมีการทบทวนเพื่อปรับปรุงเป็นประจำทุกปี แผนพัฒนาสามปี เป็นการแปลงยุทธศาสตร์การพัฒนาไปสู่การปฏิบัติ โดยมีหลักคิดที่ว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาหนึ่ง ๆ จะมีแนวทางการพัฒนาได้มากกว่าหนึ่งแนวทางและภายใต้แนวทางการพัฒนาหนึ่ง จะมีโครงการ/กิจกรรมได้มากกว่าหนึ่งโครงการ/กิจกรรมที่จะต้องนำมาดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการในแต่ละยุทธศาสตร์การพัฒนา ซึ่งมีผลต่อวัตถุประสงค์ เป้าหมาย จุดมุ่งหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและวิสัยทัศน์ ในที่สุด นอกจากนั้น แผนพัฒนาสามปี เป็นแผนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี กล่าวคือ องค์การบริหารส่วนตำบลใช้การวางแผนพัฒนาเป็นเครื่องมือในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยนำโครงการ กิจกรรมจากแผนพัฒนาสามปีในปีที่จะจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไปจัดทำงบประมาณ เพื่อให้กระบวนการจัดทำงบประมาณเป็นไปด้วยความรอบคอบและผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น โครงการที่บรรจุในแผนพัฒนาสามปี โดยเฉพาะในแผนประจำปีแรกของห้วงระยะเวลาสามปีนั้น ควรมีสภาพความพร้อมอย่างน้อย 2 ประการ คือ 1. มีความแน่นอนของกิจกรรมที่จะดำเนินการ โดยมีการประเมินถึงความเป็นไปได้ของโครงการ/กิจกรรม รวมทั้งผลประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับจากโครงการ/กิจกรรม 2. กิจกรรมที่อยู่ในแผนประจำปีแรกของห้วงระยะเวลาสามปี ควรมีความพร้อมในเรื่องรูปแบบและรายละเอียดทางเทคนิคพอสมควร เพื่อให้สามารถกำหนดรายการในแผนพัฒนาที่จะนำไปใช้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ต่อไป แผนพัฒนาสามปี มีลักษณะกว้าง ๆ ดังนี้ 1. เป็นเอกสารที่แสดงความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา 2. เป็นเอกสารที่แสดงแนวทางการพัฒนาและวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนและมีลักษณะเฉพาะเจาะจงที่ดำเนินการ 3. เป็นเอกสารที่แสดงโครงการ/กิจกรรมการพัฒนาที่จะดำเนินการเป็นระยะเวลาสามปี 4. เป็นเอกสารที่จะแสดงความเชื่อมโยงระหว่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากับงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งสามารถแสดงความเชื่อมโยงของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากับแผนพัฒนาสามปี ตามแผนภาพที่ 1 วัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้ทราบถึงลักษณะของแผน วัตถุประสงค์ขั้นตอนในการดำเนินการและประโยชน์ของการจัดทำแผน 2. เพื่อให้ทราบถึงสภาพโดยทั่วไป ขององค์การบริหารส่วนตำบล 3. เพื่อให้ทราบถึงผลการพัฒนาที่ผ่านมาว่าองค์การบริหารส่วนตำบลนำโครงการไปปฏิบัติมากน้อย เพียงใดและบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาหรือไม่ 4. เพื่อให้ทราบถึงภาพรวมการพัฒนาขององค์การบริหารส่วนตำบลในอนาคตและสามารถนำมาตรวจ สอบแผนพัฒนาสามปีว่ามีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การพัฒนาเพียงใด เป็นไปในทิศทางใด 5. เพื่อให้ทราบถึงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาว่ามียุทธศาสตร์ใดบ้าง เพื่อนำมาจัดทำแนวทางการพัฒนา ให้สอดคล้องกัน 6. เพื่อให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนาและรายละเอียดโครงการกิจกรรมการพัฒนา 7. เพื่อให้ทราบถึงแนวทางและกลไกในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสามปี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนพัฒนาสามปีในปีต่อ ๆ ไป และเป็นการสร้างแนวทางการมีส่วนร่วมในท้องถิ่น
ขั้นตอนในการจัดทำแผนพัฒนาสามปี ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมการจัดทำแผน ขั้นตอนที่ 2 การคัดเลือกยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา ขั้นตอนที่ 3 การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ขั้นตอนที่ 4 การกำหนดวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนา ขั้นตอนที่ 5 การจัดทำรายละเอียดโครงการ/กิจกรรมการพัฒนา ขั้นตอนที่ 6 การจัดทำร่างแผนพัฒนาสามปี ขั้นตอนที่ 7 การอนุมัติและประกาศใช้แผนสามปี
ประโยชน์ของแผนพัฒนาสามปี
ตามที่องค์องค์การบริหารส่วนตำบลโพนทอง ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตามแนวทางระบบการวางแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลโพนทอง เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการพัฒนาในอนาคต โดยได้ดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสอดคล้องกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) แผนพัฒนาจังหวัด 5 ปี แผนพัฒนาอำเภอ 5 ปี และนโยบายการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งในด้านเนื้อหาสาระ กระบวนการ ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาที่กำหนดไว้สำเร็จลุล่วงบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายการพัฒนา ตลอดจนได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับองค์การบริหารส่วนตำบลโพนทอง จึงได้จัดทำแผนพัฒนาสามปีขององค์การบริหารส่วนตำบลโพนทองขึ้น ซึ่งการจัดทำแผนพัฒนาสามปี เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้องค์การบริหารส่วนตำบล ได้พิจารณาอย่างรอบคอบให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างแนวทางการดำเนินงานต่าง ๆ ที่อาจมีความเชื่อมโยงและส่งผลทั้งในเชิงสนับสนุน และเป็นอุปสรรคต่อกัน เพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบลนำมา ตัดสินใจกำหนดแนวทางการดำเนินงานและใช้ทรัพยากรการบริหารของตำบลอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะสูงสุด

|
|
|
|